หมวดหมู่ : ข่าวท้องถิ่นเพชรบูรณ์บ้านเรา
หัวข้อ : ตรวจสอบ ก๊าซแอมโมเนียรั่วโรงน้ำแข็งเขาค้อ โดยรวมไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม
โดย : ฝ่ายข่าว
อ่าน : 1024
พฤหัสบดี ที่ 8 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2563
พิมพ์ 

     ตามที่เกิดเหตุก๊าซแอมโมเนียรั่ว ณ โรงน้ำแข็งยั่งยืนเขาค้อ เมื่อช่วงบ่าย วันที่ 7 ตค.63 นั้น นายกฤษณ์ คงเมือง ผวจ.เพชรบูรณ์ ได้มอบหมาย นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยรวมไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม มีเพียงแหล่งน้ำภายในโรงงาน ทีมีการปนเปื้อนแอมโมเนียเกินค่ามาตรฐาน
    โดยวันที่ 8 ต.ค. 2563 เวลา 11.30 น. นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มอบหมายให้ นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ การดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนี่ยรั่ว โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ,ตำรวจ ,โรงพยาบาล ,สาธารณสุข ,เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม เข้าตรวจสอบพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ ณ โรงน้ำแข็งยั่งยืน หมู่ที่9 ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ
     จากนั้น เวลา 12.00 น.นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มอบหมายให้ นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เยี่ยมมอบกระเช้าและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คือ นายอนุรักษ์ กันคะวงษ์ เจ้าหน้าที่ ERT ศูนย์ ปภ.เขต. 9 พิษณุโลก ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่เหตุการณ์ก๊าซแอมโมเนี่ยรั่ว ณ โรงพยาบาล อ.เขาค้อ
     โดยก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้า เวลา 08.00 น. สนง.ทสจ.เพชรบูรณ์ ร่วมกับ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 พิษณุโลก อำเภอเขาค้อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดำเนินการลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณี เกิดเหตุก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบ ณ โรงงานน้ำแข็งยั่งยืน หมู่ที่ 9 ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ โดยได้ดำเนินตรวจค่าแอมโมเนียในอากาศ ณ จุดเกิดเหตุภายในบริเวณโรงงาน จำนวน 2 จุด และจุดที่ได้รับผลกระทบ บ้านประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 จุด
     ผลการตวจสอบพบว่า ค่าแอมโมเนียไม่เกินขีดจำกัดการสัมผัสทางการหายใจ แบบเฉียบพลัน ระดับที่ 1 30 ppm และดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำในสระภายในบริเวณโรงงาน จำนวน 2 สระ พบว่า สระน้ำที่1 ค่าแอมโมเนียละลายในน้ำ 7.82 มก./ล. ค่า pH 9.14 และค่าออกซิเจนละลายในน้ำ 4.7 มก./ล. และสระน้ำ 2 ค่าแอมโมเนียละลายในน้ำ 0.14 มก./ล. ค่า pH 9.02 และค่าออกซิเจนละลายในน้ำ 4.6 มก./ล. และเก็บตัวอย่างน้ำในคลองสาธารณะด้านหน้าโรงงาน จำนวน 1 จุด พบว่า ค่าแอมโมเนีย 0.013 มก./ล. ค่า pH 8.0 ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ 5.5 มก./ล. และคลองสาธารณะจุดท้ายน้ำเลยจุดเกิดเหตุ จำนวน 1 จุด พบว่า ค่าแอมโมเนีย 1.8 มก./ล. ค่า pH 7.0 และค่าออกซิเจนละลายในน้ำ 3.9 มก./ล.
     จากผลการตรวจวัดพบว่า ค่าแอมโมเนียในอากาศ ในจุดเกิดเหตุและบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ไม่เกินขีดจำกัดการสัมผัสทางการหายใจ แบบเฉียบพลัน ระดับที่ 1 30 ppm (ระดับที่ 1 คือ ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในอากาศที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน)
     สำหรับแหล่งน้ำในโรงงานในสระ 1 มีการปนเปื้อนแอมโมเนียในน้ำเกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน เท่ากับ 7.82 มก./ลิตร ซึ่งมีค่ามาตรฐานไม่เกิน 0.5 มก./ล. (คพ., 2543) ซึ่งเจ้าของสถานประกอบการต้องดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ค่าแอมโมเนียอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดินโดยเร่งด่วนต่อไป
___________________________
เพลินจิต สวนศิลป์พงศ์ : เรียบเรียง
Cr. สนง.ทสจ.พช. : ข้อมูล/ภาพ
สวท.เพชรบูรณ์